หากพูดถึงรองเท้าสนีกเกอร์สักรุ่นที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบันโดยเฉพาะในประเทศไทยของเรา คงหนีไม่พ้น Nike Dunk ที่ทรงอิทธิพลอย่างมากอยู่ในขณะนี้
แม้ว่าในปัจจุบันรองเท้ารุ่นนี้เติมสต็อกมากี่ครั้งของก็แทบจะไม่เคยพอกับความต้องการในตลาด ราคารีเซลก็พุ่งสูงขึ้นหลายเท่า แต่ในอดีตมันล้มลุกคลุกคลานมาแล้วหลายครั้ง ผ่านช่วงที่ได้รับความนิยมสูงสุดจนถึงกับไม่มีใครสนใจเลยก็ผ่านมาหมดแล้ว
นี่คือเรื่องราวของ Nike Dunk รองเท้าที่ผ่านการเดินทางมามากมาย จนเรียกได้ว่าอมตะและอยู่ในใจของผู้คนมาเกือบ 40 ปี
ติดตามเรื่องราวของมันไปพร้อมกับ Main Stand กันได้เลย
รองเท้าบาสที่พ่ายแพ้
ย้อนไปในยุค 80s Nike ยังไม่ได้เป็นเบอร์หนึ่งของวงการรองเท้ากีฬาอย่างในปัจจุบัน ช่วงเวลานั้นแบรนด์ดังจากรัฐโอเรกอน กำลังทำตลาดอย่างหนักเพื่อหวังจะเจาะตลาดรองเท้ากีฬาบาสเกตบอลให้แตก เพราะผู้ถือครองตลาดในตอนนั้นคือ Converse ที่ยึดหัวหาดมาตั้งแต่ช่วงยุค 50s
หลังจากล้มเหลวกับ Air Force 1 จนมาประสบความสำเร็จกับ Air Jordan 1 ดูเหมือน Nike จะยังไม่พอใจนักกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พวกเขายังคงต้องการรองเท้าบาสอีกสักรุ่นที่จะมาเป็นคู่ต่อกรกับ Jordan 1 ของตัวเอง พูดง่าย ๆ คือต้องการสร้างทางเลือกให้ผู้บริโภคให้เป็นของแบรนด์ Nike ทั้งหมด จนไม่ต้องไปพึ่งรองเท้ายี่ห้ออื่น
ปี 1985 Nike จึงเปิดตัวรองเท้าบาสรุ่นใหม่ที่ชื่อว่า “Dunk” ซึ่งดีไซน์ของรองเท้าไม่ได้คิดอะไรมากมายนอกจากเป็นการรวมร่างระหว่าง Nike Legend, Nike Terminator กับ Air Jordan 1 จนได้ออกมาแบบเป็นรองเท้ารุ่นนี้
ขณะที่ความแตกต่างสำคัญของ Dunk กับสองรองเท้ารุ่นพี่คือตัวน้องใหม่นี้จะไม่มีเทคโนโลยี Air นวัตกรรมสุดล้ำสมัยของ Nike อยู่ในมิดโซล
ถ้าพูดตามตรงรองเท้า Dunk ถูกตั้งคำถามมาตั้งแต่เริ่มว่าจะขายได้อย่างไร ? เพราะนวัตกรรมก็ไม่ได้ดีกว่ารุ่นก่อนหน้า เรื่องของรูปทรงและลวดลายก็ไปเอาแรงบันดาลใจมาจากรุ่นเดิม ๆ อีก แถมอิทธิพลของ ไมเคิล จอร์แดน ยังทำให้คนแห่กันไปซื้อรองเท้า Jordan 1 กันจดหมดเกลี้ยง
Nike มีแผนของตัวเองอยู่แล้ว นั่นคือปล่อยให้ Jordan 1 เจาะตลาดกลุ่มแฟนลีก NBA แล้วใช้ Nike Dunk เจาะตลาดแฟนบาสเกตบอลมหาวิทยาลัย ซึ่งมาพร้อมกับแคมเปญ “Be True To Your School”
Be True To Your School คือแคมเปญของ Nike Dunk ที่จะเปลี่ยนสีรองเท้าตามสีของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งประกอบไปด้วย มหาวิทยาลัยไอโอวา (เหลือง-ดำ), มหาวิทยาลัยเคนทักกี (น้ำเงิน-ขาว), มหาวิทยาลัยมิชิแกน (เหลือง-กรม), มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ (เทา-ดำ), มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น (ขาว-แดง), มหาวิทยาลัยลาสเวกัสเนวาดา (แดง-เทา), มหาวิทยาลัยซีเรคิวส์ (ส้ม-ขาว)
ด้วยคอนเซ็ปต์ที่วางมาเป็นอย่างดีบวกกับสีสันของรองเท้าที่สวยงามแตกต่างกันออกไปตามแต่ละมหาวิทยาลัย ทำให้ Dunk ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากหลังจากออกมาใหม่ ด้วยสีสันที่สดใหม่แปลกตา รองเท้ารุ่นนี้จึงกลายเป็นความคลาสสิกของวงการสนีกเกอร์ในทันที
หากมองแค่ตัว Nike Dunk รองเท้าก็ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร แต่ถ้าไปมองถึงยอดขายเทียบกับ Air Jordan 1 รองเท้ารุ่นเอาใจเด็กมหาวิทยาลัยก็ต้องแพ้รองเท้าของนักบาสระดับซูเปอร์สตาร์แบบเทียบไม่ติด ทำให้ Nike ตัดสินใจถอนตลาดออกจากรองเท้ารุ่นนี้ เพราะเห็นทางสว่างแล้วว่าแค่ไลน์รองเท้าของ Jordan รุ่นเดียวก็ดีพอที่จะยึดตลาดรองเท้าบาสมาเป็นของตัวเองได้
Nike Dunk จึงกลายเป็นแค่ตำนานของรองเท้าบาสที่เริ่มเลือนหายไป ถึงแม้จะมีการผลิตรองเท้ารุ่นนี้ออกมาเรื่อย ๆ แต่ส่วนใหญ่ก็วางค้างแช่นิ่งอยู่ในร้านโดยไม่มีใครมาหยิบซื้อ ทำให้มันกลายเป็นรองเท้าบาสขวัญใจสายลดราคา เพราะสู้กระแสรองเท้าตระกูล Jordan ไม่ได้แม้แต่นิดเดียว
แต่ Dunk ซบเซาแค่ช่วงระยะสั้น ๆ เท่านั้น เพราะอีกไม่นานมันจะกลับมาเกิดใหม่อีกครั้ง แต่ไม่ใช่ในคอร์ตบาสเกตบอลอีกต่อไป