ข่าวร้ายสำหรับเหล่าพ่อค้าคนกลางที่เก็งกำไรจากการนำรองเท้าลิมิเต็ดเอดิชันไปขายต่อ เมื่อ Nike ในเกาหลีใต้ออกกฎใหม่ที่สามารถ ‘ยกเลิกคำสั่งซื้อ’ หากถูกสงสัยว่าจะนำไป ‘ขายต่อ’ ซึ่งกฎดังกล่าวมีผลตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป

การแก้ไขข้อกำหนดและเงื่อนไขของ Nike กำลังดึงดูดความสนใจของตลาด เนื่องจากรองเท้าผ้าใบของ Nike กำลังเป็นผู้นำในตลาดการขายต่อ

โดย 5 วันหลังจาก Nike เปิดตัว Air Force 1 Series โดยความร่วมมือกับ Louis Vuitton เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ด้วยราคา 3.51 ล้านวอน หรือราว 93,200 บาท ได้มีการขายต่อผ่านแพลตฟอร์ม KREAM ในราคา 14 ล้านวอน หรือ 373,000 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชาวเกาหลีแย่งกันซื้อรองเท้า Air Jordan 1 Low G ของ Nike จนผู้เห็นเหตุการณ์บอกเหมือน ‘ฝูงซอมบี้’ คาดถูกซื้อไปขายต่อในราคาที่เพิ่มขึ้น 3 เท่า
สนีกเกอร์รุ่นพิเศษ Nike ‘Air Force 1’ ของ Louis Vuitton ที่ดีไซน์โดย Virgil Abloh ทุบสถิติ ทำยอดประมูลไปทั้งหมด 827 ล้านบาท!
Son Heung Min ขึ้นแท่นแบรนด์แอมบาสเดอร์คนใหม่ของ Calvin Klein Underwear ประจำเกาหลีใต้

เชื่อว่าการแก้ไขข้อกำหนดและเงื่อนไขของ Nike จะมีผลกระทบต่อพ่อค้าคนกลางมากกว่าการขายต่อระหว่างบุคคล โดยในกฎใหม่นั้นยังรวมถึงการปฏิเสธการส่งคืนหรือการคืนเงิน หากการซื้อนั้นได้รับการพิจารณาว่ามีจุดประสงค์ในการขายต่อ และอนุญาตให้ Nike ยกเลิกคำสั่งซื้อสำหรับการซื้อที่ต้องสงสัยได้

อย่างไรก็ตาม ตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยของเกาหลีใต้คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 4.82% ต่อปี ในช่วงปี 2022-2027

การเติบโตของตลาดเป็นผลมาจากจำนวนผู้ซื้อออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคสามารถรับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์และราคาทางออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ซึ่งข้อมูลที่เผยแพร่โดยกรมศุลกากรของเกาหลีเปิดเผยว่า ในปี 2021 เครื่องแต่งกาย (17.7%) อิเล็กทรอนิกส์ (10.4%) รองเท้า (7.3%) กระเป๋าถือ และกระเป๋า (6.8%) เป็นสินค้าที่ซื้อจากต่างประเทศมากที่สุด

นอกจากนี้ คนดังต่างๆ เช่น ดารา ศิลปิน K-Pop มีอิทธิพลอย่างมากต่อประชากรวัยหนุ่มสาวในภูมิภาคนี้ ดังนั้นการส่งเสริมและโฆษณาสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีคนดังจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยในเกาหลีใต้อีกด้วย

ซึ่งแบรนด์หลักๆ ที่ใช้คนดังชาวเกาหลีใต้มาโปรโมต ได้แก่ Celine, Prada, Chaumet, M.A.C, Calvin Klein และ Bulgari